วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

King Cobra


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
งูจงอาง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร:Animalia
ไฟลัม:Chordata
ชั้น:Reptilia
อันดับ:Squamata
อันดับย่อย:Serpentes
วงศ์:Elapidae
สกุล:Ophiophagus
สปีชีส์:O. hannah
ชื่อทวินาม
Ophiophagus hannah
(Cantor1836)
ถิ่นอาศัยของงูจงอาง (สีแดง)
งูจงอาง (อังกฤษKing Cobra) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นงูพิษขนาดใหญ่ โดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 2.5 - 4 เมตร [1] จัดเป็นงูพิษที่มีขนาดยาวที่สุดในโลก ซึ่งตัวที่ยาวเป็นสถิติโลกมีความยาวถึง 5.59 เมตร เป็นงูจงอางไทย ถูกยิงได้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2467[2] น้ำหนักประมาณ 6 - 10 กิโลกรัม มีลูกตาดำและกลม หัวใหญ่กลมทู่ สามารถแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า ลำตัวเรียวยาว ว่ายน้ำเก่ง มีหลายสีแต่โดยทั่วไปจะมีสีน้ำตาลแดงอมเขียว ท้องมีสีเหลืองจนเกือบขาว มีสีแดงเกือบส้มที่บริเวณใต้คอ มีพิษร้ายแรงแต่ไม่เท่างูเห่า มีผลทางระบบประสาท (Neurotoxin)ที่รุนแรง พิษของงูจงอางสามารถทำให้คนหรือสัตว์ตายได้[3] โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 75%[3][4][5]เนื่องจากปริมาณพิษที่ฉีดออกจากเขี้ยวพิษมีมาก งูจงอางมีนิสัยค่อนข้างดุร้าย แต่ถ้าไม่จวนตัวหรือถูกรุกรานก่อนจะไม่ทำร้าย อาหารของงูจงอางคืองูอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า กบหรือตะกวดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่นหนู เป็นต้น
งูจงอางจัดอยู่ในสกุล Ophiophagus ซึ่งเป็นงูเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุลนี้ โดยมีรากศัพท์จากภาษาละตินมีความหมายว่า "กินงู" ซึ่งหมายความถึงการล่าเหยื่อของงูจงอาง เพราะงูในสกุลนี้ กินงูอื่นเป็นอาหาร พบในประเทศไทย ประเทศอินเดีย ประเทศพม่า ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย สำหรับประเทศไทยมีมากในป่าจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา และในป่าทุกภาค แต่ชุกชุมทางภาคใต้มากที่สุด[6] ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เนื้อหา

  [ซ่อน

[แก้]ลักษณะทั่วไป

ลักษณะหัวของงูจงอาง
งูจงอางเป็นงูพิษที่มีลักษณะหัวกลมมน เกล็ดบริเวณส่วนหัวใหญ่ มีเขี้ยว 2 เขี้ยวที่ขากรรไกรด้านบน หน้าตาดุดัน จมูกทู่ มองเผิน ๆ คล้ายกับงูสิงดง ที่บริเวณขอบตาบนมีเกล็ดยื่นงองุ้มออกมา ทำให้หน้าตาของงูจงอางมองดูดุและน่ากลัว ส่วนบริเวณท่อนหางจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากที่สุด มีม่านตากลม ลำคอมีขนาดสมส่วน ลำตัวขนาดใหญ่เรียวยาว แผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า งูจงอางที่ยังไม่โตเต็มวัย จะมีขนาดลำตัวเท่ากับงูเห่าดงแต่จะยาวกว่า ทำให้คนทั่วไปที่พบเห็นและไม่เคยเห็นงูจงอางมาก่อน จะเข้าใจผิดว่าเป็นงูเห่าและเรียกว่างูเห่าดง
ตามปกติจะหากินที่พื้นดินแต่ก็สามารถขึ้นต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นงูที่ใช้วิธีการฉกกัดและรัดเหยื่อไม่เป็น ซึ่งไม่สมกับขนาดของลำตัวที่เพรียวยาว ปกติจะเลื้อยช้าแต่จะมีความว่องไวและปราดเปรียวเมื่อตกใจ ถ้าพบเจอสิ่งใดแล้วไม่หยุดชูคอขึ้น จะเลื้อยผ่านไปเงียบ ๆ แต่ถ้าขดตัวเข้ามารวมเป็นกลุ่มแล้วยกหัวสูงขึ้น แสดงว่าพร้อมจู่โจมสิ่งที่พบเห็น[7] เวลาเลื้อยหัวจะเรียบขนานไปกับพื้น แต่เมื่อตกใจหรือโกรธสามารถยกตัวขึ้นชูคอได้สูงประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดความยาวลำตัว เทียบความสูงได้ในระดับประมาณเอวของคน จังหวะที่ยกตัวชูสูงขึ้นในครั้งแรกจะมีความสูงมากและค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับปกติตามเดิม ไม่ส่งเสียงขู่ฟ่อ ๆ เมื่อมีสิ่งใดเข้าใกล้เช่นเดียวกับงูเห่า ที่สามารถพ่นลมออกจากทางรูจมูกซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของงูเห่า[8] แผ่แม่เบี้ยได้เหมือนงูเห่าแต่จะแคบและไม่มีลายดอกจันที่บริเวณศีรษะด้านหลัง มีลายค่อนข้างจางพาดตามขวาง มีลักษณะเป็นบั้ง ๆ แทน[9]
งูจงอางเป็นงูพิษที่สามารถต้านทานพิษงูชนิดอื่น ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม เช่น งูเห่า งูกะปะ เมื่อเกิดการต่อสู้และถูกกัดจะไม่ได้รับอันตรายจนถึงตาย แต่จะกัดและกินงูเหล่านั้นเป็นอาหารแทน งูจงอางมีเกล็ดพิเศษบนศีรษะจำนวน 1 คู่ อยู่บริเวณด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม (Parietals) มีชื่อเรียกว่า Occipitals ซึ่งจะมีเฉพาะงูจงอางเท่านั้น มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่า ไม่ปรากฏว่าพบตามสวนหรือไร่นา ทำรังและวางไข่ประมาณปีละครั้ง ครั้งละประมาณ 20 - 30 ฟอง ชอบทำรังในกอไผ่ กกและฟักไข่เองจนกว่าลูกงูจะเกิด
งูจงอางมีพฤติกรรมการฉกกัดแบบติดแน่น ไม่กัดฉกเหมือนงูเห่า จึงกัดแล้วจะย้ำเขี้ยว (lock jaw) น้ำพิษมีสีเหลืองและมีลักษณะเหนียวหนืด พิษงูทำลายประสาทเช่นเดียวกับงูเห่าแต่เกิดอาการเร็วและรุนแรงกว่า เนื่องจากมีน้ำพิษปริมาณมากเพราะงูจงอางมีขนาดโตกว่างูเห่า ผู้ถูกกัดจะมีอาการหนังตาตก ขากรรไกรแข็ง พูดไม่ชัด กลืนน้ำลายไม่ได้ แน่นหน้าอก ตาพร่า อ่อนเพลีย เป็นอัมพาต อาจตายเพราะการหายใจล้มเหลว [10] น้ำพิษของงูจงอางสามารถฉีดออกมาได้ถึง 380-600 มิลลิกรัมในการฉกกัดแต่ละครั้ง[11] ซึ่งอาจมีปริมาณมากถึง 10 เท่าของงูเห่า ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ ที่อันตรายคือกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจหยุดทำงาน ดังนั้นหากถูกกัดจะถึงแก่ความตายอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที [12]

[แก้]ลักษณะทางกายวิภาค

งูจงอางเป็นงูที่มีความผันแปรในเรื่องของขนาดลำตัวและสีสันของเกล็ดอย่างชัดเจน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแหล่งที่อยู่อาศัยและสภาพทางภูมิศาสตร์ เช่น งูจงอางที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแถบทางภาคใต้ของประเทศไทย จะมีขนาดลำตัวที่ใหญ่โตกว่างูจงอางในแถบภาคอื่น ๆ รวมทั้งสีของเกล็ดก็แตกต่างด้วยเช่นกัน งูจงอางในแถบภาคใต้จะมีสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียวอมเทา ลักษณะลวดลายของเกล็ดบริเวณลำตัวไม่ค่อยชัดเจน แตกต่างจากงูจงอางในแถบภาคอื่น ๆ เช่น งูจงอางในภาคเหนือ จะมีเกล็ดสีเข้มจนเกือบดำ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า จงอางดำ และมีนิสัยดุร้ายกว่างูจงอางในแถบภาคใต้[13]
ส่วนงูจงอางในแถบภาคกลางและหลาย ๆ จังหวัดในแถบภาคอีสาน มักจะมีสีเกล็ดเป็นลายขวั้นตามขวาง ลักษณะเป็นบั้ง ๆ เกือบตลอดทั้งตัว มีนิสัยดุร้ายเช่นเดียวกับงูจงอางแถบภาคเหนือและภาคใต้ แต่มีขนาดของลำตัวที่เล็กกว่า ว่องไวและปราดเปรียว
โดยรวมลักษณะทางกายวิภาคของงูจงอางในแต่ละภาคจะเหมือนกัน มีความแตกต่างเพียงแค่ขนาดของลำตัวเท่านั้น ซึ่งลักษณะทางกายวิภาคของงูจงอาง มีดังนี้[14]

[แก้]น้ำพิษ

ลักษณะเขี้ยวและต่อมพิษของงูจงอาง
งูพิษ หรือ งูพิษอันตราย (Dangerous Venomous Snakes) มีความหมายเหมือนกันกับคำว่า "งูที่มีความสำคัญในทางการแพทย์" (Snakes of Medical Importance) ซึ่งจะหมายความถึงงูที่มีกลไกของพิษ(Venom apparatus) และปริมาณน้ำพิษที่มีความรุนแรง ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและระบบโลหิตต่อร่างกายของสัตว์และมนุษย์ ทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งกลไกลของพิษของงูโดยเฉพาะงูจงอาง ที่มีปริมาณพิษร้ายแรงน้อยกว่างูเห่าแต่ปริมาณน้ำพิษมากกว่า สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับพิษเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะกลไกพิษของงูจงอาง มีดังนี้
  1. ต่อมผลิตพิษ
  2. ท่อน้ำพิษ
  3. เขี้ยวพิษ
  4. น้ำพิษ
ส่วนประกอบสำคัญต่าง ๆ ของระบบพิษงูจงอาง ได้แก่

[แก้]ต่อมผลิตพิษ

ต่อมผลิตพิษ (Venom Gland) เป็นต่อมที่ทำหน้าที่สำหรับสร้างพิษงูในงูพิษที่จัดอยู่ในชั้นสูงขึ้นไป ซึ่งได้แก่งูในครอบครัว Elapidae และครอบครัว Viperidae งูจงอางจะมีต่อมพิษที่สามารถเจริญเติบโตและพัฒนาการจนมีขนาดใหญ่ โดยตำแหน่งของต่อมผลิตพิษจะอยู่บริเวณหลังลูกตาทั้ง 2 ข้างในลักษณะของตำแหน่งที่เทียบได้กับกระพุ้งแก้ม
ต่อมผลิตพิษนี้จะมีอยู่ทั้ง 2 ข้างของหัวงูจงอาง ข้างละ 1 อัน โดยบนต่อมผลิตพิษจะมีกล้ามเนื้อพิเศษที่ทำการควบคุมการผลิตพิษของต่อมผลิตพิษ เพื่อเป็นการบังคับให้ต่อมผลิตพิษ บีบตัวและหลั่งน้ำพิษเมื่องูจงอางต้องการ หรือฉกกัดสิ่งที่พบเห็น

[แก้]ท่อน้ำพิษ

ท่อน้ำพิษ (Venom Duct) เป็นท่อที่มีลักษณะพิเศษที่ทำการเชื่อมต่อกันระหว่างต่อมผลิตพิษ และโคนเขี้ยวพิษของงูจงอาง มีหน้าที่ในการลำเลียงน้ำพิษจากต่อมผลิตพิษ เมื่องูจงอางบีบและหลั่งน้ำพิษไปยังเขี้ยวพิษทั้ง 2 ข้างที่ขากรรไกรด้านล้างด้วย

[แก้]เขี้ยวพิษ

เขี้ยวพิษ (Venom Fangs) เขี้ยวพิษของงูจงอาง มีลักษณะโค้งงอ มีจำนวน 2 ชุดคือ เขี้ยวพิษจริงและเขี้ยวพิษสำรอง เทียบได้กับลักษณะของเข็มฉีดยาเมื่องูจงอางฉกกัด เขี้ยวพิษจะฝังเข้าไปในเนื้อของเหยื่อหรือผู้ที่ถูกกัดและฉีดพิษเข้าสู่ร่างกายของเหยื่อ ลักษณะเขี้ยวพิษของงูจงอางจัดอยู่ในกลุ่มProteroglypha ซึ่งเป็นกลุ่มของงูมีพิษที่มีลักษณะเขี้ยวพิษอยู่ด้านหน้าของขากรรไกรด้านบน เขี้ยวพิษทั้ง 2 จะยึดแน่นติดกับขากรรไกรด้านบน หดพับงอเขี้ยวไม่ได้ ลักษณะของเขี้ยวพิษจะไม่ยาวนัก มีร่องตามแนวยาว (Vertical Groove) อยู่บริเวณด้านหน้าของตัวเขี้ยว จำนวน 1 ร่อง เพื่อสำหรับให้น้ำพิษจากต่อมผลิตพิษไหลผ่าน
ลักษณะปลายเขี้ยวพิษของงูจงอางจะแหลมคม เพื่อใช้สำหรับเจาะทะลุเข้าไปในบริเวณผิวหนังของเหยื่อที่ฉกกัดได้โดยง่าย งูจงอางมีเขี้ยวพิษสำรองหลายชุดซึ่งเขี้ยวสำรองจะหลบอยู่ภายในอุ้งเหงือก เมื่อเขี้ยวพิษจริงหักหรือหลุดหลังจากการฉกกัดหรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม เขี้ยวพิษสำรองจะเลื่อนขึ้นมาแทนที่เขี้ยวพิษจริง และจะทำหน้าที่แทนเขี้ยวพิษจริงอันใหม่ต่อไป

[แก้]น้ำพิษ

น้ำพิษ (Venom) น้ำพิษของงูจงอางประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นโปรตีนและไม่ใช่โปรตีน น้ำพิษของงูจงอางมีลักษณะเป็นของเหลว สีเหลืองเรื่อ ๆ ไม่มีรสและกลิ่น ส่วนประกอบของน้ำพิษที่เป็นโปรตีน จะมีโปรตีนประกอบอยู่ประมาณ 90% ของปริมาณน้ำพิษทั้งหมด และอีก 10% ที่เหลือจะเป็นส่วนที่ไม่ใช่โปรตีน[15]
น้ำพิษของงูจงอางในส่วนที่เป็นโปรตีน สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นน้ำพิษจากต่อมผลิตพิษ (Toxin) และส่วนที่เป็นน้ำย่อย (Enzyme)

[แก้]กะโหลก เขี้ยวและฟัน

กะโหลกศีรษะของงูจงอาง
กะโหลกศีรษะของงูสามารถแยกแยะวงศ์และสกุลได้ โดยดูจากลักษณะของกะโหลก ฟันและ ขากรรไกร ซึ่งงูจงอางเป็นงูขนาดใหญ่ทำให้มีการพัฒนาร่างกายเพื่อการล่าอาหาร และกลืนเหยื่อ ทำให้กะโหลกของงูจงอางไม่เหมือนกับงูและสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ที่สามารถฉีกเหยื่อออกเป็นชิ้น ๆ การกินเหยื่อของงูจงอางจะใช้วิธีการขยอกเหยื่อทั้งตัว สามารถกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวของมันเองได้ เนื่องจากขากรรไกรกว้าง โดยอาจจะกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันได้ ได้โดยการถ่างกระดูกปากและกะโหลกออกจากกัน กะโหลกของงูจงอางถูกสร้างให้ข้างบน ข้างล่าง และกระดูกขากรรไกรสามารถเคลื่อนไปข้างหน้า ข้างหลัง และออกด้านข้างได้โดยอิสระ จากกะโหลก ขากรรไกรล่างจะไม่เชื่อมกับกับคาง สามารถออกไปข้างหน้าได้ เมื่อต้องการ ขยอกเหยื่อมาที่คอหอย
งูจงอางมีเขี้ยว 2 เขี้ยวที่ใหญ่และแข็งแรงกว่าฟันอื่น และมีฟันที่ข้างกรรไกรล่าง โดยจะอยู่ชั้นนอก ส่วนฟันบนชั้นใน สามารถใช้ฟันออกมางับเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว ดึงเหยื่อเข้าไปในปาก และขยอกลงไป เขี้ยวของงู จะแตกต่างจากฟันใช้ปล่อยพิษ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
  1. Opistoglyphous หรือ Rear-Fanged
  2. Proteroglyphous หรือ Front-Fanged
ซึ่ง Rear-Fanged Snakes จะมี 3 สายพันธุ์ ในวงศ์ของ Colubird จะมีเขี้ยว 1 คู่ ส่วน Front-Fanged Snakes คือพวก Burrowing Asps Cobra Mambaและ Kraits Cobra และ Viper Fangs

[แก้]ขนาดและรูปร่าง

งูจงอางมีลักษณะและรูปร่างที่เหมือน ๆ กัน คือมีขนาดของลำตัวใหญ่และยาว จะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องของขนาด ซึ่งเกิดจากจากวิวัฒนาการของสายพันธุ์และธรรมชาติเป็นผู้กำหนด งูจงอางเป็นงูพิษที่มีขนาดใหญ่ มีตากลมสีดำใช้สำรวจหาเหยื่อที่อยู่ในระยะไกลได้ ซึ่งการที่งูจงอางมีขนาดใหญ่ สาเหตุหลักเนื่องมาจากต้องการอาหารในการดำรงชีพมาก แต่มีข้อจำกัดด้วยขนาดตัวที่มีขนาดใหญ่ ทำให้การล่าอาหารในบางครั้งอาจเป็นไปด้วยความยากลำบาก และในเรื่องการปรับอุณหภูมิในร่างกายความใหญ่ของร่างกายทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับอุณหภูมิเป็นเวลานาน รวมทั้งพฤติกรรมการล่า หาอาหาร และสืบพันธุ์ สามารถขึ้นต้นไม้และอาศัยความเร็วในการจู่โจมเหยื่อ โดยใช้หางในการเกาะเกี่ยวต้นไม้ ทำให้สามารถห้อยตัวลงไปดึงกิ้งก่าหรือนกจากต้นไม้ได้

[แก้]สีสันของเกล็ด

สีเกล็ดของงูจงอาง
งูจงอางมีหลายสี เกล็ดของงูจงอางจะเปลี่ยนสีโดยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยปกติทั่วไปจะเปลี่ยนสีสันของเกล็ดได้เล็กน้อย ให้กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอำพรางตัวเองและเหยื่อหรือศัตรู ส่วนมากเกล็ดจะมีสีน้ำตาลอ่อน เหลืองอมน้ำตาล น้ำตาลแก่อมดำ เทาอมดำ เขียวมะกอก ขาวครีมอมเหลืองอ่อน และขาวงาช้างเป็นสีสันของเกล็ดมาตรฐานของงูจงอาง[16]
บริเวณท้องของงูจงอางจะเป็นสีอ่อน มีขอบเกล็ดสีดำลักษณะเป็นปล้องขาว มองคล้ายเส้นเล็ก ๆ ตามขวางอยู่ที่บริเวณเกล็ด เป็นระยะตลอดทั่วทั้งลำตัว ตามปกติถ้าไม่สังเกตจะมองไม่ค่อยเห็น นอกเสียจากเวลาโกรธหรือแผ่แม่เบี้ย ทำให้ลำตัวพองและขยายเกล็ดออกมา หรือเวลากลืนกินเหยื่อจนเกล็ดบริเวณท้องขยายออกจนเห็นได้ชัด ตามปกติปล้องสีขาวนี้จะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในงูจงอางตัวอ่อนที่มีขนาดเล็ก
งูจงอางเพศผู้จะมีสีสันที่แตกต่างจากงูจงอางเพศเมีย ตามปกติจะมีสีส้มแก่พาดขวางบริเวณใต้ลำคอ รอบขึ้นมาจนถึงบริเวณลำคอแล้วค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีเหลืองอ่อน เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่างูคอแดง ซึ่งจะไม่มีในงูจงอางเพศเมีย ซึ่งจะมีสีเหลืองอ่อนจนซีด สีสันของเกล็ดไม่สวยสดและเข้มเหมือนกับงูจงอางเพศผู้ ซึ่งจะมีสีเหลืองอ่อนบริเวณใต้คางและริมฝีปากล่าง ส่วนงูจงอางเพศเมียจะมีสีขาวครีม และเมื่อขดตัวตามธรรมชาติ สีสันของเกล็ดในส่วนอื่น ๆ จะมองไม่ค่อยเห็น แต่จะสามารถสังเกตเห็นสีขาวบริเวณใต้คางได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถแยกแยกได้ว่าตัวไหนเพศผู้เพศเมีย

[แก้]การสืบพันธุ์

งูจงอางสืบพันธุ์โดยการวางไข่ปีละ 1 ครั้ง โดยมีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ในราวต้นฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน วางไข่ครั้งละประมาณ 20 - 30 ฟอง มากที่สุดคือประมาณ 45 ฟอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ งูจงอางตัวผู้จะเลื้อยเข้าหางูจงอางตัวเมียที่พร้อมการผสมพันธุ์ ซึ่งในแต่ละครั้งการเข้าหางูจงอางตัวเมียนั้น งูจงอางตัวผู้หลาย ๆ ตัวจะทำการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงงูจงอางตัวเมีย (Combat Dance) โดยวิธีการฉกกัดและใช้ลำตัวกอดรัดกัน กดให้คู่ต่อสู้ที่เพลี้ยงพล้ำอยู่ด้านล่างให้อ่อนแรงในลักษณะคล้ายกับมวยปล้ำ ผลัดกันรุกผลัดกันรับแต่จะไม่มีการฉกกัดกันจนถึงตาย เมื่องูจงอางตัวผู้ตัวใดอ่อนแรงก่อน ก็จะยอมแพ้และเลื้อยหนีไป[17]
งูจงอางตัวเมียเมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะมีระยะเวลาการตั้งท้องนานประมาณ 25-70 วัน โดยทั่วไปลักษณะของไข่งูจงอาง จะมีลักษณะเป็นรูปทรงไข่หรือรูปทรงรียาว มีสีขาวถึงสีครีม เปลือกไข่ค่อนข้างนิ่มแต่ไม่แตก (Leathery) และจะมีขนเส้นเล็ก ๆ บริเวณเปลือกไข่สำหรับดูดซับความชื้นภายในรัง ไข่ของงูจงอางจะไม่ติดกันเป็นแพเหมือนกับไข่ของงูกะปะ มีขนาดประมาณ 3.50 - 6.00 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายไข่เป็ดและจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนในตอนต้นของฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม
ก่อนการวางไข่ งูจงอางตัวเมียจะใช้ลำตัวกวาดเศษใบไม้ร่วง ๆ มากองสุมกัน เพื่อทำเป็นรังสำหรับวางไข่ให้เป็นหลุมลึกเท่ากับขดหางโดยใช้ใบไม้แห้งรองพื้น และหลังจากวางไข่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะใช้เศษใบไม้คลุมไข่อีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันไข่จากศัตรูอื่นเช่นมนุษย์ และจะคอยเฝ้าหวงและดูแลไข่โดยการนอนขดทับบนรังเฝ้าไข่ของมันตลอดเวลาโดยไม่ยอมออกไปหาอาหาร ซึ่งผิดกับงูชนิดอื่น ๆ ที่ส่วนมากมักจะทิ้งไข่ไว้ภายในรัง ให้ฟักออกมาเป็นตัวเองโดยไม่เหลียวแลคอยดูแลและปกป้อง งูจงอางตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์ จะเป็นยามเฝ้ารังและอยู่ใกล้ ๆ บริเวณรัง ในขณะที่งูจงอางตัวเมียจะอยู่แต่ภายในรัง ซึ่งในฤดูกาลผสมพันธุ์และวางไข่จะเป็นช่วงที่งูจงอางดุมากเป็นพิเศษ จะคอยไล่ผู้ที่เดินทางผ่านรังของมัน ส่วนงูจงอางตัวเมียจะอยู่กับไข่ภายในรัง ไม่กวดไล่
เมื่องูจงอางตัวเมียฟักไข่ จะคอยเฝ้าดูแลและรักษาไข่ที่ซ่อนอยู่ในรังเพื่อให้ปลอดภัยจากศัตรูทุกชนิด เมื่อลูกงูฟักเป็นตัวอ่อนหรืองูที่ยังไม่โตเต็มวัยพังพอนเป็นศัตรูตัวฉกาจ และมีชะมด อีเห็นและเหยี่ยวรุ้งคอยไล่ล่า นอกจากนี้ยังมีเห็บเกาะกัดดูดเลือดลูกงูจงอางอีกด้วย ลูกงูจงอางแรกฟักออกจากไข่ จะมีขนาดของลำตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร โตเท่ากับนิ้วมือ โดยทั่วไปหากไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นลูกงูจงอางมาก่อน จะเข้าใจว่าเป็นงูเขียวดอกหมากหรืองูก้านมะพร้าว เนื่องจากมองดูคล้ายคลึงกัน แต่จะมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างคือ มีความดุร้ายตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อพบเห็นสิ่งใดผิดแปลก จะแผ่แม่เบี้ยอยู่ตลอดเวลา เตรียมพร้อมการจู่โจมทันที
ถึงแม้จะเป็นเพียงลูกงูจงอางแต่พิษของมันก็สามารถทำให้คนหรือสัตว์ตายได้ ลำตัวเป็นสีดำและมีลายสีเหลืองคาดขวางตามลำตัวเป็นระยะ ๆ เริ่มตั้งแต่ปลายหัวจนสุดปลายหาง บริเวณด้านท้องจะเป็นสีเหลืองอ่อน ซึ่งจะเปลี่ยนสีของลำตัวเมื่อลูกงูจงอางเข้าสู่ระยะของตัวเต็มวัย เมื่อมีขนาดของลำตัวประมาณ 0.8 - 1 เมตร ลูกงูจงอางเมื่อลอกคราบใหม่ ๆ จะมีสีสันของเกล็ดที่อ่อนสดใส มองดูเป็นมันเลื่อม ซึ่งจะค่อย ๆ ผันแปรสีสันของเกล็ดให้เป็นสีเข้มทั่วทั้งลำตัว ลักษณะของเกล็ดจะด้าน ที่บริเวณดวงตาจะฝ้าขาวมัว และจะลอกคราบใหม่อีกครั้ง เป็นเช่นนี้ตลอดไป

[แก้]ถิ่นอาศัยและการล่าเหยื่อ

งูจงอางมีการกระจายพันธุ์ตลาดทั้งเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพื้นที่ทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออก (ภาคใต้ของประเทศจีน) ที่ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก[18] งูจงอางเป็นงูป่าโดยกำเนิดอย่างแท้จริง โดยจะอยู่กันเป็นคู่ อาศัยอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำทะเลได้ถึง 2,000 เมตร บนภูเขาหรือในป่าไม้ งูจงอางจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำลำธาร ตามบริเวณซอกหินหรือในโพรงไม้ หรือในป่าไผ่ทึบที่มีไผ่ต้นเตี้ย ๆ จำนวนมาก รวมทั้งในบริเวณป่าไม้ที่มีความชื้นแฉะที่มีความอบอุ่น และมีต้นไม้สูง ๆ หนาทึบ แต่ไม่ใช่ป่าดงดิบที่ไม่ค่อยมีแสงสว่างส่องลอดผ่านมาสู่พื้นดิน และอากาศอบชื้น งูจงอางสามารถขึ้นต้นไม้ได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว แต่ตามปกติแล้วมักจะอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้
งูจงอางเป็นงูที่ออกล่าเหยื่อได้ทั้งในเวลากลางวันที่มีแสงแดดไม่ร้อนจัดมากนัก และในเวลาพลบค่ำ โดยจะเลื้อยออกไปหาเหยื่อตามถิ่นอาศัยที่มีอาหารชุกชุม อาหารหลักของงูจงอางคืองูชนิดอื่น ๆ เช่น งูทางมะพร้าว งูสิงหางลายหรือแม้กระทั่งงูเหลือมตัวเล็ก ๆ ที่มีขนาดไม่โตนัก นอกจากจะกินงูด้วยกันเองแล้ว ในบางครั้งงูจงอางอาจจะกินสัตว์จำพวกตะกวด กิ้งก่า ตุ๊กแก เหี้ย เป็นอาหารอีกด้วย หรือแม้ในบางครั้งงูจงอางก็กินลูกงูจงอางด้วยกันเอง เคยมีผู้ยิงงูจงอางเพศผู้ได้ และเมื่อผ่าท้องออกพบลูกงูจงอางอยู่ในนั้น แสดงว่างูจงอางกินแม้กระทั่งงูจงอางด้วยกัน เพียงแต่ยังเล็กอยู่เท่านั้น แต่เมื่อโตเต็มวัยก็ยังไม่เคยพบว่างูจงอางกินงูจงอางด้วยกันเอง[19]
การล่าเหยื่อของงูจงอางจะใช้วิธีซุ่มรอคอยเหยื่อในสถานที่ที่เหยื่ออาศัยอยู่ เมื่อเหยื่อเลื้อยหรือผ่านเข้ามาในบริเวณที่งูจงอางซุ่มดักรอคอย จะพุ่งตัวเข้ากัดที่บริเวณลำคอของเหยื่ออย่างรวดเร็ว แล้วจับกินเป็นอาหาร งูจงอางสามารถกลืนเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวของมันเองได้ทั้งตัว โดยเริ่มการบริเวณศีรษะของเหยื่อ ค่อย ๆ ขยอกเข้าไปในปากจนกระทั่งหมด และหลังจากการล่าเหยื่อเสร็จสิ้นลง งูจงอางจะต้องหาแหล่งน้ำเพื่อดื่มน้ำหลังจากที่กินเหยื่อเรียบร้อยแล้ว[20]

[แก้]อ้างอิง

  1. ^ งูพิษในวงศ์ Elapidae
  2. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 109 ISBN 974-323-241-9
  3. 3.0 3.1 Capula, Massimo; Behler (1989). Simon & Schuster's Guide to Reptiles and Amphibians of the World. New York: Simon & Schuster.ISBN 0671690981.
  4. ^ "Ophitoxaemia (venomous snake bite)"http://www.priory.com/med/ophitoxaemia.htm. เรียกข้อมูลเมื่อ 2007-09-05.
  5. ^ Sean Thomas. "One most Dangerous Snakes in the World"http://www.seanthomas.net/oldsite/danger.html. เรียกข้อมูลเมื่อ 2007-09-05.
  6. ^ สวนงู สถานเสาวภา
  7. ^ ลักษณะเตรียมพร้อมจู่โจม เกร็ดความรู้เรื่องงูจงอางจากเพชรพระอุมา
  8. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : ความแตกต่างระหว่างงูเห่าและงูจงอาง, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 101 ISBN 974-323-241-9
  9. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : แม่เบี้ยของงูพิษในวงศ์ Elapidae Boie, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 147 ISBN 974-323-241-9
  10. ^ งูพิษ - พิษทำลายระบบประสาท รู้ไปโม้ด น้าชาติ ประชาชื่น วันที่ 05 เมษายน 2550
  11. ^ Snake of medical importance. Singapore: Venom and toxins research group.
  12. ^ ปริมาณพิษและความเร็วในการซืมเข้าสู่กระแสเลือด
  13. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : ลักษณะทั่วไปของงูจงอาง, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 31 ISBN 974-323-241-9
  14. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : งูพิษอันตราย, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 37 ISBN 974-323-241-9
  15. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : น้ำพิษ ส่วนประกอบของพิษงู, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 38 ISBN 974-323-241-9
  16. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : ความผันแปรของสีสันในงูจงอาง, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 100-110 ISBN 974-323-241-9
  17. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : งูพิษที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 81 ISBN 974-323-241-9
  18. ^ Miller, Harry (September 1970). "The Cobra, India's 'Good Snake'". National Geographic 20 (ฉบับที่): 393–409
  19. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : งูกินงู, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 119 ISBN 974-323-241-9
  20. ^ ไพบูลย์ จินตกุล, งูพิษในประเทศไทย : ลักษณะนิสัยในการล่าเหยื่อ, สำนักพิมพ์มติชน, 2547, หน้า 113 ISBN 974-323-241-9

[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่น ๆ เกี่ยวกับ:
งูจงอาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น