วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เขมราฐ โมเดล


"เขมราฐ โมเดล" ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระดับชาติ จุดเชื่อมคนสองวัยที่แสนอบอุ่น



งานอะไรก็ตามแต่ หากผู้คนในชุมชนให้ความร่วมมือกัน ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง งานนั้นย่อมพุ่งตรงไปสู่ความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย เฉกเช่นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ได้แสดงให้เห็น การร่วมมือกันเกิดขึ้นได้อย่างไร



 นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ นายวชิระ วิเศษชาติ ผู้กำหนดนโยบาย 4 ปี 3 สร้าง    กล่าวเปิดประเด็นว่า “แนวคิดสำคัญของนโยบายนี้คือ การสร้างคน สร้างงาน และสร้างเมือง” 

นโยบาย 4 ปี 3 สร้าง นำมาสู่การทำประชาคมร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลเขมราฐ พระสงฆ์ ประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โครงการต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เพื่อทำให้ชุมชน ผู้คนในชุมชน มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม
 

ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการตำบลของเทศบาลตำบลเขมราฐ จึงเป็นการดำเนินการที่มีระบบมีทิศทาง มีเป้าหมาย และเป็นการดำเนินกิจการกิจกรรมที่เป็นที่ต้องการของชุมชน ได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การร่วมกันทำงานของทั้งภาครัฐและประชาชนในชุมชนอย่างจริงจัง และยังนำไปสู่การทำงานร่วมกับองค์กรหน่วยงานนอกชุมชนด้วย
 


ผลลัพธ์หนึ่งที่ชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรม คือ การสร้างคน เพื่อเป็นฟันเฟืองในการสร้างสังคมให้น่าอยู่ ดังนั้น เทศบาลตำบลเขมราฐจึงได้ปลูกฝังและสร้างกันตั้งแต่เด็ก เพื่อความสัมฤิทธิ์ผลในระยะยาว
 


ปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐ เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้สำคัญภายใต้การสนับสนุนสุขภาวะชุมชน  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอยู่ในหมวดของการสร้างคน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง มิเพียงสามารถดูแลเด็กขั้นปฐมวัย ซึ่งถือเป็นช่วงวัยที่สำคัญยิ่งของประชากรรุ่นใหม่ในชุมชน ให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการทางด้านสมอง


นอกไปจากนั้นยังประสบความสำเร็จบนเวทีระดับชาติ ในการเป็นตัวอย่างสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนที่มีการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบให้กับแหล่งเรียนรู้ก่อนวัยเรียนอีกมากมายหลายแห่ง

 แรกเริ่มเดิมทีนั้น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐ ตั้งอยู่ภายในวัด และมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ทางเทศบาลเห็นว่าน่าจะได้มีการปรับปรุงพัฒนาศูนย์เด็กเล็กฯ ขึ้นใหม่ เนื่อด้วยเห็นว่าเด็กในขั้นก่อนปฐมวัยถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาควรที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี จึงได้มีการทำประชามติร่วมกัน ลงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้คนในชุมชน ได้ผลลัพธ์ที่สำคัญอันนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐขึ้นมาใหม่ โดยย้ายออกมาตั้งที่นอกวัด
 


นางสาวเจียระไน สุตเศวต รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐ และเป็นหนึ่งในครูผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐ เล่าให้ฟังว่า “ปัจจุบันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐ มีขีดความสามารถในการรองรับเด็ก 150 คน วันนี้เราประสบความสำเร็จได้เพราะการทำงานของเรานั้น เป็นการทำงานร่วมกันในทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เรามีการวางกรอบนโยบายในการทำงาน การดูแลเด็ก โดยทางศูนย์ทำงานร่วมกับทางเทศบาล และชุมชน รวมทั้งผู้ปกครองของเด็กอย่างใกล้ชิด มีการประเมินการทำงานและติดตามผลการทำงานอยู่ตลอด นอกไปจากนั้นคุณครูของเรายังได้รับการสนับสนุนให้ได้ออกไปเรียนรู้นอกที่ทำงานอยู่เสมอ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาปรับใช้กับศูนย์”
 


ทว่าการทำงานร่วมกันนั้นคงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการนำพาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ไปสู่ความสำเร็จ ลักษณะของเทศบาลตำบลเขมราฐถือได้ว่าเป็นเทศบาลตัวอย่างที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง เทศบาลมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการทำงานและเปิดรับความรู้ใหม่ เพื่อนำมาบูรณาการ อย่างการนำเอาข้อมูลจากศูนย์ TCNAP (Thailand Community Network) มาใช้ในการดำเนินงาน พัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งตัวศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เองก็มีการนำมาใช้เชื่อมโยงข้อมูล
  


การใช้ประโยชน์จากระบบ TCNAP ทำให้เทศบาลตำบลเขมราฐ และผู้ทำงานสามารถรู้ได้ว่าในตำบลของตนเองมีศูนย์เรียนรู้อยู่กี่แห่ง และจะนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องใดได้บ้าง อาทิ การใช้ประโยชน์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจากชมรมผู้สูงอายุ และจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน จากการรวมรวมแหล่งข้อมูลต่างของ TCNAP
 


นอกจากการใช้โปรแกรมการเรียนรู้ต่างๆ ในแง่วิชาการ ที่ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ใช้ในการดูแล ถ่ายทอดทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเด็กเล็กแล้ว ทางศูนย์ยังได้ทำงานร่วมกับ โครงการต่างๆ ของชุมชนด้วย อาทิ โครงการคุณตาเผื่อแผ่คุณยายเอื้อเฟื้อ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชมรมผู้สูงอายุแห่งตำบลเขมราฐ โดยผู้สูงอายุในชุมชนจะทำงานด้านจิตอาสา เข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก โดยนำประสบการณ์ชีวิตมาปรับใช้ สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่และคุณครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้รับการดูแลจากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างใกล้ชิดด้วยความรักแล้ว บรรดาผู้สูงอายุในชุมชนยังได้ใช้เวลาที่มีของตนเองให้เกิดประโยชน์ ทำให้ตัวผู้สูงอายุเองก็มีความสุขด้วย มิเพียงแต่เด็กๆ เท่านั้นที่จะได้รับความรักความอบอุ่น ผู้สูงอายุเองก็ได้รับความอบอุ่นความรักคืนจากเด็กๆ ด้วยเช่นกัน


 

สำหรับตัวชมรมผู้สูงอายุนั้น การเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนช่วยเหลือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ นั้นทางชมรมผู้สูงอายุได้มีการประชุมร่วมกันว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรดี คุณอัญชลา พรหมศรีใหม่ อายุ 57 ปี ที่ปรึกษาของชมรมผู้สูงอายุกล่าวว่า “เรามาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี บรรดาผู้สูงอายุอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้กับเด็กๆ เราพร้อมที่จะเอาประสบการณ์ของเรามาช่วยเด็กๆ ให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ตัวผู้สูงอายุก็มรความสุขด้วยที่ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์”
 

โครงการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกหนึ่งโครงการที่ผู้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ โดยนำผู้มีความรู้ในชุมชนเข้ามาถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เก็บเด็ก ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น รักษาการหัวหน้าศูนย์ นางสาวเจียระไน เล่าเสริมว่า “คุณพ่อของนักเรียนท่านหนึ่งที่มีความสามารถเกี่ยวกับการวาดรูป ยังทำงานจิตอาสาเข้ามาเป็นครูสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีคุณตาที่ไปอยู่ในอเมริกามานานหลายสิบปี ตอนนี้กลับมา ก็มาสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ”
 


ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐแห่งใหม่นี้เปิดดำเนินการมาได้สองปีแล้ว เป็นการรวมสามศูนย์อบรมเด็กเล็กสามศูนย์เข้าไว้ด้วยกัน คือศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดชัยภูมิการาม ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดประชาเกษม ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์วัดเหนือ วันนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐได้ส่งเสริม สร้างสรรค์ ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปีซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญให้ได้รับพัฒนาการครบทั้งสี่ด้าน คือ การส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ – จิตใจ ด้านสังคมด้านสติปัญญา
  


โดยสองปีที่ผ่านมาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐ มีโอกาสต้อนหน่วยงานจากที่ต่างๆ มากมายที่แวะมาศึกษาดูงาน มิเพียงถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับมาสู่ผู้อื่น เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนร่วมกับศูนย์เด็กเล็กฯ ยังเปิดรับข้อคิดคำแนะนำ จากผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานด้วย เป็นการเพิ่มพูนวิสัยทัศน์และแนวความคิดใหม่ในการทำงานไปในตัวด้วย เพราะทุกคนทราบดีว่าความสำเร็จของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เกิดขึ้นจากการร่วมมือในการทำงาน การแสวงหาความรู้ใหม่ การทำงานอย่างทุ่มเทและใส่ใจ



ในวันทำการ เมื่อแดดยามบ่ายอ่อนแรงลง เด็กๆ รวมกลุ่มกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าอาคารหลังเล็ก เสียงหัวเราะ เสียงพูดคุยของบรรดาคุณตาคุณยายดังอยู่รอบๆ สนามบางคนกำลังอธิบายให้เด็กๆ ฟังว่ากิจกรรมนี้ต้องเล่นอย่างไร บางคนกำลังจัดแบ่งเด็กๆ ออกเป็นกลุ่ม แม้จะไม่ทุกวันที่บรรดาผู้สูงอายุในชุมชนจะมาพบกับเด็กๆ แต่ทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน ความอบอุ่นความสนุกสนานก็จะอบอวลอยู่โดยรอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ แห่งนี้
 

การทำงานร่วมกันของชุมชน ตั้งแต่หน่วยงานราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ประชาชน ไปจนถึงพระสงฆ์ โดยมีหน่วยงานราชการเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงเข้าหากันบริหารนำข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งในและนอกชุมชนมาใช้ โดยใช้เครื่องมือและระบบที่มีอยู่เข้ามาใช้ทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชน สังคม อย่างจริงจัง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นี่เองทำให้ การบริหารจัดการ เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เทศบาลตำบลเขมราฐ และชุมชนชาวเขมราฐ สามารถสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลเขมราฐ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น