วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"โลกของเบียร์"


"โลกของเบียร์" จุดเริ่มต้นสุนทรียภาพแห่งอารยธรรม



เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สำหรับเทศกาลดื่มเบียร์ที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่กว่า 200 ปี อย่าง "อ๊อกโตเบอร์เฟส (Oktoberfest)" 
เทศกาลที่มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1810 เพื่อฉลองพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งบาวาเรียกับเจ้าหญิงปรัสเซีย ต่อมาจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 2 สัปดาห์

ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กันยายน-7ตุลาคม 2555

มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปกินดื่ม เล่นเครื่องเล่น และร่วมเดินขบวนพาเหรดในงานเฉลิมฉลองไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน แต่ละคืนมีการบริโภคเบียร์มากกว่า 60,000 เฮกโตลิตร ไก่ย่างกว่า 700,000 ตัว และไส้กรอกประมาณ 500,000 ชิ้น ประมาณเป็นเม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น การเฉลิมฉลองนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของ "เบียร์" ในฐานะเครื่องดื่มขึ้นชื่อของเยอรมนีและวัฒนธรรมร่วมของมนุษย์หลากหลายเชื้อชาติ

แต่ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่วโลกชนิดนี้กลับมีไม่กี่คนที่รู้จักอย่างลึกซึ้ง

เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ไม่ต่ำกว่า 7,000 ปี นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการต้มเบียร์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รู้จักขัดเกลาเครื่องมือหิน หรือในยุคที่เรียกว่า Neolithic times ขณะนั้นมนุษย์รู้จักเก็บเกี่ยวธัญญาหารไว้สำหรับบริโภคในระยะยาว รู้จักทำครัว รู้วิธีต้มเปลือกข้าวแล้วปล่อยให้หมักในน้ำ จึงค้นพบกรรมวิธีผลิตเครื่องดื่มที่แก้กระหาย เสียไม่ง่าย และมีรสชาติอร่อย เรียกกันว่า ขนมปังเหลว หรือ "ชิคารุ" อันเป็นเครื่องดื่มวิเศษของชาวสุเมเรีย แหล่งอารยธรรมสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส

ต่อมาในยุคกลาง การต้มมักทำกันตามวัดหรือโบสถ์ในท้องถิ่น สมัยก่อนศิลปะของการปรุงเบียร์ถือกันว่าเป็นความลับสุดยอด ที่บาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ใครจะหัดต้มก็ต้องฝึกงานก่อนสามปี

ใน ค.ศ.1575 การต้มเบียร์ถือเป็น "ศิลปะของเทพเจ้าและของขวัญอันสง่าของการต้มเบียร์ให้วิเศษและควรแก่เกียรติยศ" และแพร่หลายกันมากในยุโรป ไม่ว่าจะในเยอรมนี อังกฤษ ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์

ขณะที่เบียร์ไทยเกิดขึ้นในรัชสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ในปี พ.ศ.2476 โดยการเดินทางไปศึกษาโรงเบียร์ที่เวียดนาม และที่เยอรมนี ต่อมา พ.ศ.2535 ได้มีผู้ขอผลิตและจำหน่ายเบียร์เพิ่มขึ้น ได้แก่ คาร์ลสเบอร์ก, ช้าง, ไฮเนเก้น, อาชา และมียี่ห้อที่หลากหลายมากขึ้นในเวลาต่อมา

นพพร สุวรรณพานิช ปราชญ์สำคัญคนหนึ่งของเมืองไทย ผู้ล่วงลับไปแล้ว กล่าวไว้ในหนังสือ "โลกของเบียร์" ซึ่งสำนักพิมพ์

"มติชน" จัดพิมพ์ว่า เบียร์ที่ผลิตและบริโภคกันในโลกนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามกรรมวิธีการผลิต ได้แก่ ลาเกอร์ (lager) ซึ่งเป็นเบียร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในเขตบาวาเรีย ตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ในภาษาไทยเรียกว่า เบียร์บ่ม โดยใช้วิธีหมักก้นถัง ปล่อยให้ยีสต์ตกตะกอนในระหว่างหมักส่าและในที่สุดก็ผสมกับดอกฮอพ

ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ เอล (Ale) ซึ่งใช้วิธีหมักแบบปากถัง กล่าวคือ ยีสต์ที่ลอยตัวอยู่ตอนบนของถังขณะที่หมักส่ามีอุณหภูมิราวๆ 36-43 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่เกือบจะร้อน จึงรุนแรงกว่าการหมักแบบลาเกอร์ มีฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นมา กลิ่นคล้ายแอปเปิล, ลูกแพร์, สับปะรด, ลูกพลัม และพรุน อันเป็นเอกลักษณ์ของเอล

"เบียร์โดยทั่วไปมีอยู่เพียง 2 สไตล์ และผลิตขึ้นมากว่า 50,000 ยี่ห้อ แต่อาจมีผู้แย้งว่า เบียร์สเตาท์ (stout) หรือเบียร์ดำ อาจเป็นสไตล์ที่สาม แต่สเตาท์เป็นเบียร์ที่หมักแบบปากถัง สไตล์จึงไม่แตกต่างกับเบียร์เอล เพียงแต่อาจมีสีคล้ำมากกว่า และนิยมดื่มในฤดูหนาวเป็นพิเศษ ขณะที่เบียร์ดราฟต์ หรือเบียร์สด คือเบียร์ที่รินจากถังที่บรรจุ แทนที่จะเป็นจากกระป๋องหรือขวด" เป็นความรู้ที่ นพพรค้นคว้ามาให้รับรู้

แน่นอน เบียร์ในฐานะวัฒนธรรมย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่แยกไม่ออกจากการเจริญเติบโตของอารยธรรมมนุษย์ในหลากหลายมิติ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ตลอดจนบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้า หรือแม้กระทั่งคุณค่าในทางสุนทรียศาสตร์จากการกินดื่ม แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเบียร์ก็มีพิษร้ายมากมายต่อสุขภาพ หากดื่มโดยไม่รู้จักควบคุมตนเอง

เบียร์ไม่ได้มีแต่โทษ ตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนตักเตือนไว้

เพราะปกติ เบียร์มีสารอาหารที่มีคุณค่ามากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุต่างๆ เครื่องดื่มเบียร์ช่วยให้ร่างกายเจริญอาหารและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต การดื่มเบียร์ 1 ลิตร ให้พลังงาน 440 กิโลแคลอรี กระตุ้นให้ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำให้สูงขึ้น มีวิตามินบี มีโปรตีน เกลือแร่ และแคลเซียมป้องกันโรคหัวใจ มีแมกนีเซียมคุมคอเลสเตอรอล ฟอสเฟตช่วยกระดูกและฟัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยกระตุ้นน้ำย่อยจากกระเพาะ ดอกฮอพส่วนประกอบสำคัญหมักเบียร์ และเกลือโพแทสเซียมช่วยขับถ่ายปัสสาวะ ชะล้างไต และช่วยให้ผ่อนคลายประสาทตึงเครียด

แต่หากดื่มเป็นประจำทุกคืน ในปริมาณที่มากกว่า 0.36 ลิตร โอกาสที่จะเป็นโรคตับแข็งก็มีอยู่มาก

หรืออาจเกิดผลกระทบต่อตับด้วยอาการอื่นๆ อีก เพราะแอลกอฮอล์ผ่านกระเพาะลงไป จะก่อให้เกิดดีซ่าน ท้องบวม และโลหิตจาง กระเพาะอาหารและลำไส้เกิดอักเสบเรื้อรัง อาเจียนเป็นเลือด มีผลร้ายต่อสมองและประสาท คนที่เสพติดเบียร์ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคประสาท มือและเท้าสั่น เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อตา

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ที่หนังสือ "โลกของเบียร์" ซึ่ง นพพร สุวรรณพานิช ได้พยายามนำเสนอ

ให้ความรู้เกี่ยวกับเบียร์ไว้ให้อย่างครบถ้วน เต็มไปด้วยอรรถรส และเป็นฐานความรู้สำคัญในการศึกษาเรื่องเบียร์ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาด้วยเพื่อความงอกงามทางสติปัญญาและวิจารณญาณ

เพราะเบียร์ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดความมึนเมาแต่เพียงด้านเดียว หากแต่เป็นดังคำกล่าวของ วิลเลี่ยม ฟอล์คเนอร์ นักเขียนรางวัลโนเบล ที่กล่าวไว้ว่า

"อารยธรรมเริ่มต้นจากการต้มกรอง"

ซึ่งก็คือเบียร์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น