สุโขทัยชวนเที่ยวงาน ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จุดพลุตะไลไฟพะเนียงนานกว่า 1.30 ช.ม.
จังหวัดสุโขทัย เปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว ชวนเที่ยวงานใหญ่ประจำปีอย่าง ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ประจำปี 2555 เชิญทุกท่านร่วมสัมผัส เอกลักษณ์และต้นกำเนิดประเพณีลอยกระทงของประเทศไทย ชูจุดเด่น วัฒนธรรมดั้งเดิม กระทงพระราชทาน และการจุดพลุตะไลไฟพะเนียง ต่อเนื่องกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที มุ่งหวัง เจาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ที่หลงใหลในวัฒนธรรมและความเป็นไทยแบบดั้งเดิม โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2555 ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย “จังหวัดสุโขทัยเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญ ในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเก่าแก่ของประเทศไทย อีกทั้งเป็นต้นกำเนิดของการจัดงานประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ซึ่งได้ริเริ่มมานับตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟนี้ จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 36 ปี ถือเป็นหนึ่งประเพณีที่อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามที่สะท้อนชีวิตและอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของสุโขทัยและเอกลักษณ์ของเมืองไทยได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญ ปีนี้ ถือเป็นปีแห่งความสุขและความมั่งคั่ง ทางจังหวัดจึงร่วมเฉลิมฉลองด้วยการแสดง จุดพลุตะไลไฟพะเนียง ต่อเนื่องกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งมุ่งหวังว่าจะสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ นับแสนที่เดินทางมายังดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุขได้อย่างเต็มที่”
กิจกรรมที่สำคัญและโดดเด่นของงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ประจำปี 2555 นอกจาก การแสดงจุดพลุตะไลไฟพะเนียง ต่อเนื่องกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที แล้ว ยังมีกิจกรรมพิเศษต่างๆ มากมาย อาทิ กิจกรรม อันทรงคุณค่า คือ ขบวนอัญเชิญพระประทีปและกระทงพระราชทาน ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดโดยได้รับพระราชทานกระทงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้น 10 กระทงด้วยกัน จะอัญเชิญลอยเป็นปฐมฤกษ์ ในตระพังตระกวน,
การแสดงแสง-เสียง ณ บริเวณวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยใช้ บทการแสดงของกรมศิลปากร ซึ่งตรวจทานแก้ไขโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ‘ความรุ่งเรืองอาณาจักรสุโขทัย’ เป็นเรื่องราวพ่อขุนรามคำแหงมหาราช รบชนะศึกขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด และสร้างความรุ่งเรืองจนเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย ซึ่งฝ่ายจัดการแสดงได้บันทึกเสียงประกอบการแสดงให้เหมาะสมสอดคล้องด้วยระบบแสง-เสียง และเทคนิคพิเศษ โดยเฉพาะระบบเสียงจัดให้มีมิติและเสียงรอบทิศทาง เพื่อให้ได้อารมณ์สมจริง ซึ่งนับเป็นการยกระดับการแสดงแสง-เสียง สู่สากล ทั้งความอลังการของพลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย และการประกวดนางนพมาศ ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของประเพณีลอยกระทง เพื่อรำลึกถึงนางนพมาศ นางสนมเอกในสมัยสุโขทัย ที่ได้ทำคุณงามความดีจนเป็น
ที่โปรดปราน จนได้รับตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” นางนพมาศ ได้เขียนตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้นเพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตน ในการเข้ารับราชการของนางสนมกำนัลทั้งหลาย เนื้อเรื่องในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงประเพณีต่างๆ ของไทยเช่น การประดิษฐ์ พานหมากสองชั้นรับแขกเมือง การประดิษฐ์โคมลอยรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) เพื่อใช้ในพระราชพิธีจองเปรียงลอยพระประทีป (ลอยกระทง) ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงสมมติให้มีการประกวดนางนพมาศขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งหากหญิงสาวคนใดได้รับตำแหน่งนี้ ก็ถือเป็นเกียรติยศครั้งหนึ่งของชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น